ขายไม่ออก เกิด Dead Stock ปัญหาที่พ่อค้าแม่ค้าต้องเผชิญ

การสั่งสินค้ามาเพื่อเก็บไว้ในคลังรอการจัดจำหน่าย ก็คือการสต๊อกสินค้านั่นเองค่ะ เป็นขั้นตอนการทำธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการขายของออนไลน์ เพราะพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มีหน้าร้าน ยิ่งถ้าสินค้านั้นขายดีเทน้ำเทท่า ก็ต้องสต๊อกเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นซื้อโกดังเก็บของกันเลยทีเดียว แต่ถ้าสินค้านั้นขายไม่ดี ของขายไม่ออก สินค้าเหล่านั้นก็จะต้องกลายเป็นสินค้า Dead Stock ซึ่งก็อาจจะกินระยะเวลายาวนานจนพ่อค้าแม่ค้าต้องตัดใจทิ้งแม้จะไม่อยากทำก็ตาม วันนี้ GAPP biz จะพามาดูกันว่าสินค้า Dead Stock คืออะไร? Dead Stock แก้ยังไง? สามารถเลี่ยงได้ไหม? ต้องป้องกันยังไงบ้าง? มาดูเลย!

Dead Stock คือ สินค้าคงค้างในคลังสินค้า หรือก็คือสินค้าในคลังที่ขายไม่ออก อยู่ในคลังสินค้าหรือร้านค้าเป็นเวลานาน มีความเป็นไปได้ยากที่จะขายออกได้ เรียกง่าย ๆ ว่า ของค้างสต๊อก นั่นเองค่ะ

ของค้างสต๊อก หรือ Dead Stock สามารถหมายถึงสินค้าที่เสียหายจากการจัดส่ง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามที่มีวันเน่าเสีย หมดอายุ หรือเสื่อมสภาพจนไม่สามารถนำมาใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น อาหารสด ยา ซึ่งต้องกำจัดออกจากคลังด้วยการทิ้งเท่านั้น ซึ่งกว่าสินค้าของเราจะกลายเป็น Dead Stock ไม่ได้วัดกันที่เวลาชั่วข้ามคืนหรือแค่ลูกค้าตีของกลับนะคะ แต่มักจะนับจากการขายไม่ออกเป็นปี ซึ่งการขายไม่ออกนี้ก็หมายถึงขายไม่ได้เลย ขายได้แค่ไม่กี่ชิ้นจากสัดส่วนสินค้าปริมาณมาก หรือขายไม่ได้แล้วหนำซ้ำยังไม่มีลูกค้าคนไหนถามถึงด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ได้น้ำตาตกกันแย่ 🙁

Dead Stock ส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร? แย่ขนาดไหน?

Dead Stock คือปัญหาที่ค่อนข้างมีผลกระทบในวงกว้างมาก ๆ อาจเริ่มตั้งแต่สินค้าเสียหาย เสื่อมสภาพ จนต่อให้นำมาแจกฟรีก็ยังทำไม่ได้ Dead Stock จึงเป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแน่นอน และสินค้าค้างสต๊อกไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับสินค้าของเราเพียงอย่างเดียวนะคะ แต่มันส่งผลกับร้านค้าของเรามากกว่านั้นเยอะ!

1. เสียเงิน

เป็นผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของ Dead Stock เลยค่ะ เพราะสินค้าที่ค้างอยู่ในสต๊อกล้วนเป็นเงินทุนของเราทั้งนั้น และการที่เงินของเราไม่เคลื่อนไหวก็จะกระทบต่อการลงทุนของเราอย่างแน่นอน

2. ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

หมายถึงต้นทุนการจ่ายค่าคลังเก็บสินค้าที่ขายไม่ออก หรือก็คือต้องเสียค่าพื้นที่ไปเปล่า ๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการ แรงงาน และประกันสินค้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องจ่ายส่วนนี้เลยถ้าเราขายสินค้าออก 

3. จ่ายค่าจ้างพนักงานเพิ่ม

การที่เรามีสินค้าคงค้างจำนวนมาก เราก็ต้องมีการจัดระเบียบและจัดการสินค้าในคลังนั้น ๆ อยู่ดี หากเราเป็นร้านค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ที่ต้องจ้างพนักงาน เราก็อาจจะต้องเสียค่าจ้างพนักงานเพื่อดูแลคลังสินค้านั้นๆ ไปเฉยๆ หรืออาจจะจ่ายเท่าเดิมทั้งที่ไม่จำเป็นต้องจ่าย หากสินค้าขายออกตลอดเวลา

4. เสียโอกาส

พอสินค้าไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เราก็จะเสียโอกาสในการทำกำไรหรือคืนทุนมากเท่านั้น แทนที่จะได้ทุนคืนจากสินค้าเหล่านี้มาบริหารส่วนอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น หรือนำมาสั่งซื้อสินค้าแบบใหม่ ๆ ที่เป็นกระแสได้นั่นเอง

5. พื้นที่จัดเก็บสินค้าน้อยลง

แน่นอนว่าสินค้าใน Dead Stock จะต้องมีพื้นที่จัดเก็บสินค้า ดังนั้น ถ้าสินค้า Dead Stock ไปแล้ว มันก็ไม่สามารถหนีไปไหนได้นอกจากนอนอยู่ในคลังของเรา กินพื้นที่ไปเรื่อย ๆ หากสินค้าตัวใหม่เข้ามาก็จะไม่สามาถใช้พื้นที่ที่ควรจะมีตรงนี้มาจัดเก็บสินค้าได้

สาเหตุของ Dead Stock ทำแบบนี้ไม่ดีแน่!

สินค้าที่กลายเป็น Dead Stock นั้นมีสาเหตุหลากหลายมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นปัจจัยภายนอกที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์อย่างเรา ๆ ไม่สามารถควบคุมมันได้ทั้งนั้น ส่วนปัจจัยภายในก็คือการตัดสินใจและการบริหารกิจการของเราค่ะ หากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ท่านไหนเอาแต่จะรับมาขายเยอะ ๆ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยภายนอก ก็อาจจะทำให้จมทุนได้ง่าย ๆ Dead Stock ก็จะล้นคลังแบบงง ๆ

1. สต๊อกสินค้ามากเกินไป

การสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเก็บในคลังมากเกินความจำเป็น ทำให้สินค้ามีโอกาสกลายเป็น Dead Stock ได้ง่ายมาก ๆ ค่ะ บางครั้งที่เราคิดว่าต้องสต๊อกสินค้าไว้เยอะ ๆ หรือซื้อแบบไม่สนใจว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการซื้อสินค้าประเภทนั้น ๆ หรือเปล่า ทำให้ต้องติดอยู่ท่ามกลาง Dead Stock แบบไม่รู้ตัวค่ะ

2. ยอดขายไม่ดี

เป็นสาเหตุสุดแสนจะเรียบง่ายที่ทำให้เกิด Dead Stock แม้ว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะทำการสต๊อกสินค้าอย่างระมัดระวังก็ตาม ยอดขายไม่ดีอาจเกิดจากการที่สินค้าไม่ได้รับความสนใจแล้ว หรือเราอาจจะตั้งราคาสูงเกินไป สินค้าไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรา เป็นต้น

3. สินค้าเสียหายเยอะ

สาเหตุนี้มาจากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้าจากซัพพลายเออร์มายังคลังของเรา วัตถุดิบหรือวัสดุต้นทางที่ควบคุมคุณภาพได้ยากจนกระทบต่อการผลิต หรือการจัดเก็บสินค้าในคลังที่ไม่ได้มาตรฐาน จุดนี้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะต้องทำการเลือกคู่ค้าให้ดี และดูแลจัดการคลังสินค้าอย่างสม่ำเสมอค่ะ ในส่วนนี้รวมถึงกรณีที่สินค้าเสียหายเพราะการขนส่งไปยังลูกค้า หากลูกค้าตีกลับสินค้าเพราะกรณีนี้ สามารถนับเป็นสินค้าค้างสต๊อกได้ เพราะถือว่าของเสียหาย เอามาขายซ้ำไม่ได้แล้ว

4. กระแสนิยมช่วงสั้น ๆ

เป็นปัจจัยภายนอกที่ไมาอาจคาดเดาได้จริง ๆ ค่ะกับกระแสนิยมหรือเทรนด์ โลกออนไลน์นั้นขับเคลื่อนกันรวดเร็วมาก ๆ บางครั้งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ตามเทรนด์ สั่งสินค้าเข้ามาทันทีที่รู้สึกว่าจะต้องขายได้แน่นอน แต่หารู้ไม่ว่าเทรนด์ที่คาดว่าจะขายได้ สามารถหายไปในชั่วพริบตาเดียว ทั้งนี้ อาจจะมีผลจากความต้องการในตลาดหรือสภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงได้ด้วย

5. สินค้าไม่น่าสนใจ

ตามหัวข้อนี้แบบตรงตัวเลยค่ะ คือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่สั่งสินค้าซึ่งไม่อยู่ในความสนใจของลูกค้ามาขาย และพอจะขายจริง ๆ ก็ย่อมขายไม่ออกอยู่แล้ว สินค้ากลายเป็น Dead Stock ตั้งแต่ตัดสินใจสั่งซื้อแล้วล่ะค่ะ!

Dead Stock แก้ยังไง? ถึงจะระบายสินค้าออกได้

อาการ Dead Stock นั้นเป็นเรื่องทั่วไปที่พบเห็นได้เวลาเราเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์อยู่แล้ว แต่อย่ากลัวไปค่ะ! GAPP biz เฟ้นหาเคล็ดลับในการระบายสินค้า Dead Stock ออกจากคลังมาฝากแล้ว! 

1. ลองขายสินค้าช่องทางอื่น ๆ ก่อน

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายร้านอาจจะมีแผนการตลาดที่มุ่งเน้นการขายในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเป็นหลัก แต่แอดมินแนะนำว่าการขายหลาย ๆ ช่องทางจะเพิ่มโอกาสในการกระจายสินค้าได้มากกว่าค่ะ หากพบปัญหา Dead Stock คือสิ่งที่เข้ามากระทบต่อกำไรของธุรกิจเมื่อไหร่ ลองหาช่องทางอื่นในการขายดู เป็นการเพิ่มการมองเห็นและเข้าถึงสายตาของลูกค้ามากขึ้น อาจจะช่วยระบายสินค้าจนกลายเป็นสินค้าขายดีก็ได้นะ!

2. แจกฟรีหรือให้เป็นของแถม

หากไม่สามารถขายช่องทางอื่นได้แล้วจริง ๆ การแจกฟรีหรือแถมฟรี เป็นหนทางการเคลียร์สินค้าที่เร็วที่สุดแล้วค่ะ แต่อาจจะต้องใช้เวลาทำใจสักหน่อย เพราะทุกอย่างก็มีต้นทุนของมัน การแจกสินค้าไปเลยจะช่วยให้พื้นที่ในคลังเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่จะซื้อสินค้าของเรา และอาจกลับมาซื้อซ้ำได้ด้วย แต่พ่อค้าแม่ค้าควรจะระมัดระวังเงื่อนไขในการแจกหรือแถม อาจตั้งราคาขั้นต่ำในการซื้อ 1 ครั้งต่อการแถมสินค้า 1 ชิ้น เป็นต้น

3. ลดราคาล้างสต๊อก

เป็นวิธีที่ง่ายและตรงจุดที่สุดในการกำจัด Dead Stock ซึ่งไม่สามารถคืนทุนให้ได้ตามที่คาดหวังเอาไว้ แต่อย่างน้อยก็ได้ทุนมาเพิ่มสักหน่อยก็ยังดีค่ะ แถมยังได้พื้นที่ในคลังเก็บของเพิ่มขึ้นมาอีก และถ้าหากโชคดี ก็อาจขายออกแบบถล่มทลายจน Dead Stock ก้อนนั้นหายไปทั้งหมดเลยก็ได้! เพราะลูกค้าจะรู้ว่ามันคุ้ม ลดราคาแบบตาแตก! ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว แต่วิธีนี้จะเหมาะกับสินค้าที่ยังใช้งานได้เท่านั้นนะคะ ถ้าเป็นของใกล้หมดอายุ ลูกค้าก็อาจจะลังเลเหมือนกัน

4. ขายยกชุด

หากมี Dead Stock จำนวนมากแต่ประเภทสินค้าใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกัน สามาถเลือกขายแบบยกชุด (Product Bundling) ตัวอย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ เช่น Bundel deal ในแพลตฟอร์มขายสินค้า Shopee ซึ่งจะเป็นการจับคู่สินค้าที่คล้าย ๆ กัน เช่น โทรศัพท์กับหูฟัง รองเท้ากับถุงเท้า มีคอนเซปง่าย ๆ คือ หากลูกค้าซื้อแยกหรือย่างใดอย่างหนึ่ง จะซื้อได้ในราคาปกติ แต่หากซื้อคู่กันจะได้ในราคาที่ลดแล้ว อาจคิดเป็นเปอร์เซ็นต์หรือตั้งราคาไว้เลยก็ได้ วิธีนี้จะช่วยคืนกำไรส่วนหนึ่งที่อาจเท่ากับหรือมากกว่าวิธีลดล้างสต๊อก

5. เปิดขายส่ง

เป็นการขายสินค้าแบบชุดใหญ่ในราคาขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์รายย่อยอื่น ๆ ที่ต้องการสินค้าไปขายต่อ จะช่วยให้เราได้กำไรเล็กน้อยแต่ปริมาณมากต่อการซื้อส่งหนึ่งครั้ง สามารถเพิ่มที่ว่างในคลัง คืนทุน และได้กำไรอีกนิดหน่อยด้วย!

6. คืนสินค้าให้กับซัพพลายเออร์

ไม่ว่ายังไงก็ไม่มีใครอยากส่งคืนสินค้าให้กับซัพพลายเออร์ของเราอยู่แล้ว เพราะอาจจะทำให้เสียเครดิตการซื้อขายได้ค่ะ แต่เราก็สามารถเคลียร์ Dead Stock ด้วยการคืนสินค้าให้กับซัพพลายเออร์ที่มีนโยบายรับซื้อคืนได้ แม้ว่าเราอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอื่น ๆ หรือค่าขนส่งคืนเอง แต่ก็คุ้มค่ากว่าการปล่อยให้สินค้าเสียหายจนขายไม่ได้อีก และเพิ่มพื้นที่เก็บสินค้าได้ในทันทีด้วย

7. บริจาคเพื่อการกุศล

ภาพลักษณ์ของธุรกิจจะเพิ่มขึ้นในแง่บวกอย่างพุ่งกระฉูดเลยค่ะ ถ้าหากบริจาคสินค้า Dead Stock เพื่อการกุศล วิธีนี้สามารถเคลียร์คลังเก็บของและได้ใจจากลูกค้าได้รวดเดียว แถมยังมีโอกาสได้รับการลดหย่อนภาษีด้วยนะ!

Dead Stock เลี่ยงได้ไหม? ป้องกันยังไงได้บ้าง?

จริงอยู่ที่การเตรียมวิธีรับมือเมื่อมี Dead Stock เกิดขึ้นเวลาขายของออนไลน์เป็นเรื่องที่ดี นักรบย่อมต้องมีบาดแผล แต่ไม่มีจะดีกว่าค่ะ! พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่และเก่าควรจะหาแผนป้องกันการเกิด Dead Stock ที่ครอบคลุมเอาไว้ให้มาก โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกสินค้ามาขาย เราจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกระแสความนิยมของกลุ่มเป้าหมายและปัจจัยภายนอกอย่างสภาวะเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม หรือคุณภาพของซัพพลายเออร์ให้ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าการสั่งซื้อสินค้าเข้าคลังจะเป็นไปอย่างราบรื่น ขายได้ ไม่คงค้าง

นอกจากนี้ ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุด พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ควรจัดทำสต๊อกสินค้าอย่างเป็นระบบ จัดหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช็คอัตราหมุนเวียนสินค้า (KPI) ให้ละเอียด รู้ว่าต้องเติมของตอนไหน รู้ว่าต้องขายออกให้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ อัตราความเสี่ยงที่สามารถรับได้ และแผนสำรองในการจัดการคลังสินค้าที่รวดเร็ว ครอบคลุม และเสียผลประโยชน์น้อยที่สุด

ระบบจัดสต๊อกสินค้า ทำไมต้อง GAPP biz ?

ปัจจุบัน มีเครื่องมือเพื่อจัดระบบสต๊อกสินค้ามากมายให้เลือกใช้ อันจะช่วยเสริมสร้างการหมุนเวียนในคลังสินค้าอย่างเป็นระเบียบ สามารถตรวจสอบได้ง่าย พ่อค้าแม่ค้าควรเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง เพื่อที่จะได้ลดปัญหาในแต่ละขั้นตอนของการจัดสต๊อกไปได้เยอะ ๆ ค่ะ

    • ระบบเพิ่ม-ลบสินค้าง่าย ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา
    • แจ้งเตือนแบบ Real Time ทั้งยอดขาย อัปเดตสินค้า หรือสินค้าใกล้หมด!
    • สรุปยอดสถิติการสั่งซื้อและความเคลื่อนไหวของคลัง
    • มีรายละเอียดสินค้าหลายหมวด ไม่ว่าจะเป็นเลข SKU, วันหมดอายุ, บาร์โค้ด หรือวันประเภทสินค้า
    • ฟีเจอร์การจัดกลุ่มสินค้าที่ทำได้ไม่จำกัด ช่วยจำแนกหมวดหมู่อย่างชัดเจน
    • เราคอยให้คำปรึกษาเสมอ มีเจ้าหน้าที่สแตนบายตลอดเวลา

สรุป

        ตอนนี้ทุกคนก็รู้จักปัญหา Dead Stock ว่าคืออะไรและส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไรกันมากขึ้นแล้วนะคะ การขายของออนไลน์ ยิ่งมีสินค้าหลากหลาย ยิ่งต้องจัดการสต๊อกให้ดี เพื่อสร้างระบบเบียบในการหมุนเวียนสินค้า โอกาสในการเกิด Dead stock ก็จะน้อยลง อาจจะต้องลงทุนสักเล็กน้อย แต่แลกกับการบริหารร้านอย่างราบรื่น และลดความเสี่ยงในการขาดทุน อันจะนำไปสู่การเลิกกิจการในอนาคตก็ถือว่าคุ้มค่านะคะ ใครที่อยากมีระบบจัดสต๊อกสินค้า ไม่อยากมี Dead stock เกิดขึ้นบ่อย ๆ ให้พวกเรา GAPPbiz ช่วยดูแลนะคะ 🙂

GAPP พาธุรกิจของคุณเข้าสู่โลกออนไลน์

พร้อมช่วยดูแลในทุกขั้นตอน ให้เราพัฒนาไปด้วยกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *